วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เหม็งผรา....เครื่องยาภูมิปัญญาชาวบ้าน

              ผมมักเอาคำสองคำนี้  ถามที่ประชุมของเกษตรกรเสมอ  เพื่อความสนุกสนาน  เพราะในการประชุม
ในแต่ละเวที  หรือในแต่ละเรื่อง   มีคนเข้าประชุม  40 - 50 คน  เมื่อผมถามจะมีคนรู้จักประมาณ  4 - 5 คน 
ส่วนใหญ่ก็เป็น ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ผู้แก่  แล้วก็สร้างกัลยาณมิตรได้เป็นอย่างดี  และ สามารถจุดประกายแห่ง
การเรียนรู้ได้ เพราะเมื่อถามและมีคนรู้คนที่ไม่รู้ก็จะอยากรู้  ซึ่งเวทีจะเริ่มเกิดขึ้นครับ
     
              คงจะสร้างความ มึนงง....ให้กับผู้อ่านบันทึกนี้ไม่น้อยกับคำแปลก ๆ ที่ผมบันทึกขึ้นมา  ก็ขอบอกนะครับ
ว่าสิ่งนี้เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยรุ่นปู่ย่า ตายาย    ที่สร้างสมเรียนรู้ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน นำสิ่งที่ใช้
ในวิถีชีวิตมาต่อยอดใช้ประโยชน์ต่อกันไป

              ผมขอเริ่มอธิบายนะครับ  คนสมัยก่อนนั้นในครัว  มีเตาไฟที่สร้างด้วยปีกไม้สี่เหลี่ยมแล้วเอาดินไปใส่ไว้
เพื่อวางเตาในการหุงต้ม  ปรุงอาหาร  ส่วนเหนือขึ้นไปบนเตาไฟจะมีชั้นวางของ   ทำด้วยฟากไม้ไผ่ผูกด้วย
หวายหรือเถาวัลย์  แขวนไว้กับหลังคา ความสูงจากเตาไฟไว้พอประมาณ(พ้นจากเปลวไฟ)  ใช้สำหรับวาง
อาหารเพื่อให้แห้งแห้ง  เช่นพริกขี้หนู  ปลาแห้ง  เนื้อแห้ง กล้วย ป้องกันการบูดเน่า  หรือวัสดุประสงค์เพื่อรม
ควัน  ป้องกัน แมลงวัน  มด มอด

              การหุงต้มสมัยก่อนนั้นใช้ไม้ฟืน  ซึ่งมีไม้หลายชนิดที่นำมาทำฟืน  เมื่อหุงต้มด้วยไม้ฟืนแน่นอนครับเกิด
ควันไฟ  และชั้นวางของดังกล่าวทางภาคใต้เรียกว่า "ผรา" ครับ  ส่วนควันไฟเมื่อผ่าน "ผรา" ก็เกิดเขม่าควันติด
เป็นสีดำ  ติดนาน ๆ ก็หนาเตอะครับ  ไปจับก็มือดำมิดหมีแหละครับ  ชาวบ้าน เรียกว่า "เหม็งผรา" ครับ   และที่
ว่านี้ครับคือภูมิปัญญา คนสมัยก่อนและฉลาดใช้  เพราะ"เหม็งผรา"  เป็นตัวเครื่องยาชนิดหนึ่งที่ไปปรุงยาได้อีก
หลายชนิด  ที่ผมจำได้แน่ ๆ เขาใช้รักษาแผลสัตว์เลี้ยง  ทั้งแผลสด แผลเปื่อย  ป้องกันแมลงวันได้อย่างดีเลยครับ 

             ที่ "ผรา" นั้นเป็นจุดรวมของ ควันยางไม้จากไม้ฟืน  ไอน้ำจากเครื่องเทศเครื่องปรุงอาหาร  พืชผักที่ปรุงอาหาร
ล้วนเป็นที่สะสมของสารจากพืช  จากปลา จากเนื้อ  คนโบราณจึงนำมันมาทำประโยชน์เป็นเครื่องยาโบราณครับ

ไม่มีความคิดเห็น: